การช่วยเหลือผู้มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย
ปัญหาการฆ่าตัวตาย เริ่มต้นป้องกันได้จากครอบครัว โดย
1. การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) ไม่ห่างเกินไปและไม่ใกล้ชิดจนเกินไป สมาชิกมีความเป็นตัวของตัวเอง มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน
2. สื่อสารดีต่อกัน (Communicate) การสื่อสารที่ดีควรเป็นการสื่อสารที่สื่อจากความรู้สึกของตัวเองโดยตรง เช่น บอกความรู้สึกความต้องการอย่างจริงใจ และถามความเห็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจในความรู้สึกนึกคิด แสดงความชื่นชมหรือขอบคุณเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน นอกจากนั้นยังสามารถสื่อสารได้โดยไม่ใช้คำพูดเช่น มองหน้า สบตา การยิ้ม จับมือ โอบกอด การสัมผัส ก็จะช่วยสร้างพลังให้คนในครอบครัวได้
3. เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน (Care) ด้วยการให้เวลากับคนในครอบครัว ใช้เวลาในทำกิจกรรมร่วมกัน ใส่ใจสอบถาม ร่วมมือกันเมื่อเกิดความขัดแย้ง เมื่อคนในครอบครัวมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ก็พร้อมช่วยเหลือดูแล
นอกจากนั้น การสังเกตสัญญาณเตือนที่จะทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจหรือเรื่องล้อเล่น ให้มองเป็นความต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ด้วยการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติม ให้กำลังใจ สร้างความหวังว่าปัญหานั้นแก้ไขได้ คอยระวังอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในสายตาและให้อยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่เขาเตรียมไว้เพื่อทำร้ายตัวเอง แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว